วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การดูแลแบตเตอรี่รถยนต์

การดูแลแบตเตอรี่

ควรตรวจสอบดูระดับน้ำกลั่นที่เติมแบตเตอรี่เดือนละครั้ง แต่ถ้าแบตเตอรี่ใช้งานแล้วเกิน 1 ปี ควรตรวจดูน้ำกลั่นสัปดาห์ละครั้ง แล้วเติมจนถึงระดับ Max Level ถ้าเป็นแบตแห้ง MF Battery ให้สังเกตดูที่ตาแมว
ขอบคุณวิดิโอจาก GS Battery 

สูตรทางเคมีของแบตเตอรี่รถยนต์


แบตเตอรี่รถยนต์ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว-กรด สูตรทางเคมีจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการทำปฎิกิริยาทางเคมี
แบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว-กรด จะจ่ายกระแสไฟฟ้าทันที เมื่อขั้วบวกและขั้วลบต่อกับวงจรภายนอก กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น จากปฎิกิิริยาเคมีระหว่างกรดกำมะถันกับแผ่นธาตุบวก (ตะกั่วไดออกไซด์) และตะกั่วพรุนของแผ่นธาตุลบ ในขณะที่จ่ายไฟฟ้าออก ออกซิเจนในตะกั่วไดออกไซด์ จะรวมตัวกับไฮโดรเจนในกรดกำมะถันเกิดเป็นน้ำ ในขณะเดียวกันกับตะกั่วไดออกไซด์ จะรวมตัวกันกับอนุมูลซัลเฟตในกรดกำมะถันเกิดเป็นสารประกอบชนิดใหม่ คือตะกั่วซัลเฟต ในขณะเดียวกันตะกั่วพรุนในแผ่นธาตุลบ ก็จะรวมตัวกับอนุมูลซัลเฟตในกรดกำมะถัน จะเกิดตะกั่วซัลเฟต เช่นเดียวกัน
สรุปได้ว่า ขณะที่แบตเตอรี่จ่ายไฟฟ้าออก จะเกิดตะกั่วซัลเฟตขึ้นทั้งที่แผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบ ส่วนกรดกำมะถันก็ถูกนำไปใช้จนเกิดเป็นน้ำขึ้นมา ถ้าจ่ายไฟไปเรื่อยๆ กรดกำมะถันก็จะเจือจางไปเรื่อยๆ ส่วนปฎกิริยาเคมีจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแผ่นธาตุบวก และแผ่นธาตุลบถูกเปลี่ยนเป็นตะกั่วซัลเฟตเกือบหมด แบตเตอรี่ก็จะไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อไป ต้องนำไปอัดกระแสไฟฟ้าใหม่

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเลือกใช้แบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับรถยนต์


แบตเตอรี่รถยนต์ ตามปกติควรเลือกใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุขนาด เท่ากับมาตรฐานที่โรงงานผลิตรถยนต์ใช้ แต่ถ้ามีการเพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ ก็ควรเลือกแบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้นจะดีกว่า และควรเปลี่ยนอุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้าและไดชาร์จ ให้มีความสามารถสูงขึ้นด้วย รถเดิมๆที่ไม่มีการเพิ่มเติมอุปกรณ์ไฟฟ้า ถ้าเลือกใช้แบตเตอรี่แบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น หรือที่เรียกกันว่าแบตแห้ง (MF battery) ก็จะดีตรงที่ไม่ต้องมาคอยดูแลรถบ่อยๆ หรือเหมาะสำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องรถมากนัก แต่ถ้ามีการเพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าภายหลัง เช่นเครื่องเสีย ทีวี ไฟตัดหมอก ไฟหน้าขนาดใหม่สว่างกว่าเดิม ก็ควรเลือกแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดทั่วๆไป จะใช้งานได้เหมาะสมกว่า เพราะอุปกรณ์ ต่างๆจะใช้กำลังกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก หากใช้แบตแห้งอาจทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
เลือก ค่าความจุของแบตเตอรี่ให้เหมาะสม เลือกแบตเตอรี่ที่มีช่องรูตาแมว สำหรับดูค่าความถ่วงจำเพาะของกรดหรือสถานะของแบตเตอรี่ ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ไฟเต็ม ไฟอ่อน ต้องเติมน้ำกลั่น โดยดูการเปลี่ยนแปลงตามสถานะของสีที่เปลี่ยนแปลงไป

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ค่าความจุของแบตเตอรี่มันสำคัญอย่างไร


บางคนสงสัยทำไมแบตเตอรี่มันมีหลายขนาด จำชื่อรุ่นก็ยาก แล้วยังมาเรื่องความจุอีก ทำไมเขาไม่ทำให้มันมีขนาดเดียวกัน
ค่าความจุที่เขียนติดมากับแบตเตอรี่ เราจะสังเกตุเห็นเป็นตัวเลขและตัวอักษรที่ฝาแบตเตอรี่ เช่น 12V 75 Ah หมายถึงค่าความดันไฟฟ้า 12 โวลท์และมีค่าการปล่อยกระแสไฟคงที่ 75 แอมป์-ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปจะคิดกันที่ 20 ชั่วโมง กระแสไฟจ่ายคงที่ของแบตรุ่นนี้คือ 3.75 แอมป์ในเวลา 20 ชั่วโมง ที่แบตเตอรี่มีขนาดความจุไม่เท่ากัน เพราะความต้องการในการใช้งานของรถยนต์ มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดเครื่องยนต์ ระบบการจ่ายไฟฟ้าสำรองและความต้องการกำลังในการสตาร์ทรถ ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้แบตเตอรี่จึงมีความจุที่แตกต่างกันไป การเลือกติดตั้งแบตเตอรี่ใหม่ ก็ไม่ควรเลือกแบตเตอรี่ที่มีความจุต่ำกว่าเดิม เพราะเมื่ออายุการใช้งานของรถมีมากขึ้นอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ จะมีความเป็นตัวนำไฟลดลงทำให้กระแสไฟสูญเสีย ไปกับความร้อนที่เกิดขึ้นควรเผื่อค่าการจ่ายไฟไว้บ้าง โดยเพิ่มค่าความจุให้มากขึ้นกว่าเดิมน่าจะดีกว่า

เรียก"แบตแห้ง"ทำไมข้างในมีน้ำหล่ะ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ เมื่อคุณมัลลิกามาที่ร้านสั่งแบตเตอรี่แห้ง รถโตโยต้ารุ่น Camry และให้ไปส่งที่ศูนย์โตโยต้าซึ่งรถเธอจอดซ่อมอยู่ที่นั่น ผมไปบริการติดตั้งด้วยตนเอง เมื่อกลับมาที่ร้านเธอก็โทรมาถามเรื่องแบตเตอรี่ เนื่องจากทางศูนย์โทรไปบอกเธอว่า ผมเอาแบตน้ำไปส่งให้เธอไม่ใช่แบตแห้ง อย่างที่ตกลงกันไว้ เพราะเด็กที่ศูนย์แจ้งว่าแบตมันมีน้ำอยู่ข้างในและมีรูเติมน้ำกลั่นตั้ง6 รู มันจะเป็นแบตแห้งได้จะได ....กว่าผมจะอธิบายให้เธอและเด็กที่ศูนย์ฮู้เรื่อง เล่นเอาเหนื่อย....
คำว่า"แบตแห้ง"เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น หลายคนยังเข้าใจว่าแบตเตอรี่แห้งคือมันแห้งจริงๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว แบตแห้งที่นำมาใช้กับรถยนต์ ยังคงมีของเหลวอยู่ภายใน เช่นเดียวกับแบตชนิดตะกั่ว-กรดหรือแบบธรรมดาทั่วไป แต่ที่แตกต่างคือสูตรส่วนผสมพิเศษ ที่ทำให้ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นสะดวกต่อการใช้งาน การปล่อยทิ้งไว้ในสภาพไม่มีไฟประจุ สามารถอยู่ได้นานกว่าแบตธรรมดาทั่วไป ปริมาณการเกิดแก๊สจากปฎิกิริยาทางเคมี มีน้อย ส่วนฝาแบตเตอรี่จะถูกออกแบบมา เพื่อให้เกิดการระเหยของน้ำ เกิดการหมุนเวียนและหยดกลับคืนอยู่ภายในแบตเตอรี่

ชนิดแบตเตอรี่ที่เรียกกันว่า"แบตแห้ง" นี้ มันก็คือ MF battery มาจากคำเต็มว่า Maintenance Free เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ต้องหมั่นดูแลรักษา(คอยเติมน้ำกลั่น) อายุการใช้งานจะยาวนานกว่าแบตธรรมดา ประมาณมากกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ข้อที่ไม่ดีก็คือมีราคาแพงกว่าแบตทั่วไปและมีปัญหาเรื่องถ้าอากาศร้อนมากๆอาจทำให้แบตมีปัญหาเรื่องการระบายแก็สจากภายในเพราะระบบรูหายใจเป็นแบบทางเดียว ดังนั้นแบตเตอรี่หลายยี่ห้อจะยังมีจุกเติมน้ำกลั่นไว้ทุกช่องโดยเฉพาะบนฝาจูก จะมีรูเล็กๆระบายแก็ส ช่วยให้แบตเตอรีไม่เกิดอาการบวมได้ ยามหน้าร้อนแนะนำไม่ควรจอดรถไว้ในที่ ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปเพื่อรักษาแบตเตอรี่ของท่านให้มีอายุยืนยาวนานกว่าจะเปลี่ยน

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชื่อรุ่น Model แบตเตอรี่ มาจากไหน สำคัญอย่างไร





แบตเตอรี่คือแหล่งเก็บและจ่ายพลังไฟฟ้าโดยอาศัยปฎิกริยาทางเคมี เปรียบดังเช่นภรรยายึดเงินเดือนสามีไว้แล้วจ่ายให้ใช้เป็นรายวัน โดยอาศัยปฎิกริยาทางอารมณ์ (นอกเรื่อง )
ชื่อรุ่นของแบตเตอรี่การผลิตแบตเตอรี่ตามหลักมาตรฐานสากลโลก แบ่งเป็นหลักใหญ่ 3 มาตรฐาน คือ JIS STANDARD ของญี่ปุ่น DIN STANDARD
ของเยอรมัน และ IEC STANDARD ของอเมริกา นอกจากนี้ยังมี BCI,AUS.SAE เป็นต้น
การตั้งชื่อรุ่นแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน JIS สำหรับรถญี่ปุ่นเพื่อแบ่งกลุ่มแบตเตอรี่ตามขนาดความจุ
ได้แก่ กลุ่มรถเก๋งญี่ปุ่น (12N24, NS40,N40,NS60,)
กลุ่มรถปิคอัพ(N50,N70)
กลุ่มรถบรรทุก (N100,N120,N200)
N=Nomal Z= จำนวนแผ่นเพิ่มขึ้น แอมป์เพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขคือขนาดความจุว่ามีกี่แอมป์
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำหนดมาตรฐานเป็น NEW JIS ได้แก่ 38B19R(L), 40B24R(L)=N40, 80D26R(L) =N50 95D31R(L) 105D31R(L)=N70 ตัวเลขข้างคือขนาดความจุ ที่รองรับได้ Dคือความสูง ตัวเลข 31 คือความยาวคิดเป็นเซนติเมตร
ส่วนรถยุโรป ก็เป็นมาตรฐาน DIN จริงๆแล้วจะแสดงเป็นตัวเลข เช่น 55530 อ่านแล้วน่าปวดหัว คนไทยไม่ถนัด เลยย่อเอาเฉพาะตรงกลาง เช่น DIN55 DIN75 DIN100 รถจิ๊ปตามมาตรฐานอเมริกัน เช่น S74-60 ยิ่งอ่านยิ่งง นอกจากนี้คนไทยผู้ผลิต ยังหัวใสคิดตั้งชื่อรุ่นขึ้นมาใหม่ตามทางการตลาด เช่น NS100, NS110 ,G120 เป็นต้น

สิ่งที่ควรจะรู้ ก่อนนำรถไปเปลี่ยนแบตเตอรี่



"ยังจำได้มั๊ย รถคุณใช้แบตเตอรี่รุ่นอะไร"
แล้วจะรู้ได้ยังไงละย่ะ ไปที่ร้านช่างเขาก็เปลี่ยนให้เสร็จ จ่ายตังค์กลับบ้าน นับจากวันนั้นยันวันนี้ก็สองปีกว่า ...สรุปว่า จำบ่ได้ก่า
เมื่อเป็นเช่น ขอแนะนำให้ท่านไปที่รถเปิดฝากระโปรงรถดูอีกครั้ง สอดส่ายสายตาไปยังกลางฝาด้านบนของแบตเตอรี่ หากมีแคมป์เหล็กพาดขวาอยู่ก็ควรจะไขน๊อตออก ดูตัวอักษรนูน บนเนมเพรสภาษาอังกฤษ จะบอกไว้ เช่น N70 12v 70 Ah แสดงว่าแบตเตอรี่รถคุณ เป็นรุ่น N70 สามารถโทรไปที่ร้าน สอบถามราคาหรือให้เขามาเปลี่ยนให้ที่บ้านได้ ส่วนใหญ่ทางร้านก็จะบอกราคาแต่ละยี่ห้อ ของรุ่นนี้ และเราจะได้ส่วนลดจากการแลกซากเก่า แต่ต้องดูให้แน่ชัดด้วยว่าเป็นขั้ว R (ขั้วปกติ)หรือ L (ขั้วสลับ) เพราะตำแหน่งวางขั้วจะสลับกัน ถ้าเป็นขั้ว L บนฝาชื่อรุ่นก็จะมี L ต่อท้าย เช่น N70L ถ้าไม่มีแสดงถือว่าเป็นขั้วปกติ หากจำเป็นต้องถอดแบตไปเปลี่ยนที่ร้าน เนื่องจากรถสตาร์ทไม่ติด หรือสามีเมาขับไม่ไหวงดให้บริการ จำเป็นต้องถอดแบตเตอรี่ออก ให้ท่านคลายน๊อดแคมป์ยึดออก ถอดขั้วลบก่อน แล้วจึงถอดขั้วบวกทีหลัง ถ้าดูไม่ออกว่าด้านไหนขั้วบวกขั้วลบ ก็ให้สังเกตพลาสติกปิดขั้วที่เป็นสีแดง อยู่ด้านไหนแสดงว่าเป็นขั้วบวก
เดี่ยวนี้แบตเตอรี่รถเก๋งรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เป็นแบตแห้ง FM battery ย่อมาจาก Maintenance Free
เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ผลิตด้วยตะกั่วผสมแคลเชียมอัลลอย อายุการใช้งานนานกว่า แพงกว่าแบตทั่วไป ราคาต่างกันแล้วแต่ยี่ห้อ
เปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่แนะนำว่า ไม่ควรเปลี่ยนขนาดความจุกระแสไฟให้ต่ำกว่าเดิม ควรเปลี่ยนรุ่นที่สูงขึ้น เช่น N70 เป็น N70Z (แอมป์จะสูงขึ้นจาก 70 แอมป์เป็น 75 แอมป์) หรือหากไปติดตั้งเครื่องเสียงมาใหม่ ก็ควรจะเปลี่ยน ขนาดความจุให้สูงขึ้นให้เหมาะสมเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่เช่นนั้นแบตเตอรี่ท่านอาจจะไม่มีแรงกำลังในการสตาร์ทรถ